Last updated: 15 ก.ค. 2562 | 7050 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติความเป็นมา
เรื่องราวของข้าวหอมมะลิแดงเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2525-2527 จากการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ โดยนายบุญโฮม ชำนาญกุล เป็นผู้อำนวยการสถานีพบว่าในรวงข้าวจำนวนหนึ่งมีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ด้วย เข้าใจว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งพบอยู่เสมอ นอกจากนี้เมื่อนำเมล็ดข้าวปนไปปลูก พบว่า ในกอหนึ่งให้เมล็ดที่มีเยื่อหุ้มเป็นสีแดงเรื่อ ๆ มีแป้งทั้งชนิดที่เป็นข้าวเหนียวและข้าวเจ้า
พ.ศ. 2529-2533 ได้นำเฉพาะเมล็ดข้าวเจ้าที่มีเยื่อหุ้มเป็นสีแดงมาปลูกที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกเพื่อการคัดเลือก จนในปี พ.ศ. 2533 มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดรุนแรง พบว่ามีสายพันธุ์ที่ไม่ถูกทำลาย และคัดได้สายพันธุ์ข้าวเบาและข้าวหนักดีเด่นที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไว้
พ.ศ. 2535 เกษตรกรที่อยู่ใกล้ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ดีเด่นไปปลูกและแปรรูปผลผลิตเป็นข้าวกล้องแดงจำหน่าย พ.ศ. 2536 พบว่า อายุสุกเก็บเกี่ยวของข้าวแดงหอมในแปลงเกษตรกรยังมีการกระจายตัว ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกจึงนำสายพันธุ์ข้าวเบาและข้าวหนักมาคัดเลือกใหม่
ในปี พ.ศ. 2538 ได้สายพันธุ์ KDML105R-PSL-E-14 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวเบาที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และกรมการข้าวได้เสนอขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์ข้าวทั่วไปโดยใช้ชื่อว่า “ข้าวหอมแดง (Red Hawm Rice)” และด้วยมีที่มาจากข้าวหอมมะลิ 105 บ้างจึงเรียกข้าวชนิดนี้ว่า “ข้าวหอมมะลิแดง”
ลักษณะทั่วไป
เป็นข้าวเจ้า นาปี ที่สามารถนำมาทำนาปรังได้ ความสูงของต้นประมาณ 120 – 130 เซนติเมตร เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ลำต้นแข็ง กอตั้ง การแตกกอดี ใบสีเขียวอ่อน ใบโน้ม ใบธงตก คอรวงยาว รวงยาว เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์ ท้องไข่น้อย เมล็ดข้าวกล้อง กว้าง x ยาว x หนา = 2.1 x 7.5 x 1.7 มิลลิเมตร มีปริมาณอมิโลส 16.9 % สีของใบและลำต้น เขียวเข้มอมม่วง เก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน ให้ผลผลิตประมาณ 643 กิโลกรัมต่อไร่
โดยข้าวหอมมะลิแดงถือเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม เมื่อหุงสุกนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอมเหมือนขาวดอกมะลิ 105 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในสภาพธรรมชาติได้ดี ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้คุณภาพการขัดสีดี คุณภาพการหุงต้ม นุ่ม มีกลิ่นหอม ต้านทานโรคและแมลง ที่สำคัญเป็นข้าวที่เหมาะสำหรับการผลิตแบบอินทรีย์
คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ
ธาตุเหล็ก | 12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
สังกะสี | 3.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
ทองแดง | 4.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
วิตามิลอี | 336.62 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
เบต้าแคโรทีน | 3.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
ลูทีน | 9.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
โพลีฟีนอล | 329.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม |
ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
ความน่าสนใจ
ข้าวกล้องหอมมะลิแดง มีคุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการ โดยจะมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยในการป้องกันและบรรเทาโรคเบาหวานได้ดี และจากการทดสอบพบว่า ข้าวหอมมะลิแดงที่หุงสุกแล้วมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลกลูโคสในช่วงเวลา 20 นาทีแรกค่อนข้างช้า คือ 10.60 กรัมต่อ 100 กรัม และปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังจากย่อยผ่านไป 120 นาที มีค่าเพียง 8.59 กรัมต่อ 100 กรัม แสดงให้เห็นว่า ข้าวหอมมะลิแดงน่าจะเป็นข้าวพื้นเมืองที่มีดัชนีน้ำตาลที่เหมาะกับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะปกติ หรือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทาน เพราะเมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เข้าไปแล้ว ร่างกายจะมีปริมาณน้ำตาลกลูโคสเพิ่มสูงขึ้นช้ากว่าข้าวเจ้าทั่วไป
ที่สำคัญในข้าวกล้องทุกชนิดจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ทองแดง ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ลูทีน สูง ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนติออกซิแดนท์ (antioxidant) คือสารที่สามารถขจัดอนุมูลอิสระออกจากร่างกาย ในข้าวกล้องหอมมะลิแดง มีสารทองแดง ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และลูทีนสูง ซึ่งการบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความจำเสื่อม โรคไขข้ออักเสบ แก่เร็ว
มีสารอาหารจำพวกแป้ง ไขมันไม่อิ่มตัว ไม่มีคลอเรสเตอรอล โปรตีน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน แคลเซียมช่วยลดอาการเป็นตะคริว วิตามินบี1 ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา วิตามินบี2 ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ทองแดงช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ใยอาหารป้องกันอาหารท้องผูก
ที่มาข้อมูล กรมการข้าว, กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว, รักบ้านเกิด
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562